ฟันแท้หรือฟันน้ำนม

     ผู้ปกครองหลายท่านอาจะต้องเห็นว่าการที่ลูกมีฟันแท้ขึ้นแล้วสังเกตได้ไม่ยาก เช่น เมื่อฟันน้ำนมโยกและหลุดตามธรรมชาติ ผ่านไปไม่กี่เดือนจะเห็นฟันแท้ขึ้นตามมาดังภาพด้านล่างซ้าย หรือในบางกรณีอาจพบว่าฟันแท้ดันแทรกขึ้นมา โดยที่ฟันน้ำนมยังไม่หลุดดังภาพด้านล่างขวา
     ภาพซ้าย: ลักษณะฟันของเด็กที่เดิมมีฟันหน้าน้ำนมผุจนเหลือแต่ส่วนของรากฟัน  ต่อมาฟันน้ำนมโยกและหลุดไปหนึ่งซี่ โดยในภาพพบว่ามีฟันหน้าแท้ขึ้นแล้วหนึ่งซี่ในฟันบน และสองซี่ในฟันล่าง (ในวงกลมสีเหลือง)
     ภาพขวา: ลักษณะของฟันแท้ที่ขึ้นแล้ว (ในวงกลมที่เป็นสีเหลือง) แต่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด
ฟันหน้าจะเป็นตำแหน่งที่สามารถสังเกตการขึ้นของฟันแท้ได้ง่ายต่างจากฟันกรามแท้ซี่แรกของเด็ก (ในวงกลมสีน้ำเงินของภาพด้านขวา) ฟันกรามแท้ซี่แรกจะขึ้นมาในตำแหน่งที่ไม่ได้แทนที่ฟันน้ำนมซี่ใดในช่องปาก ดังนั้นจึงไม่เห็นว่ามีฟันน้ำนมโยกหลุดไปก่อนที่ฟันกรามแท้จะขึ้น  หากแต่ฟันกรามแท้จะค่อยๆ   ดันเหงือกที่เป็นช่องว่างขึ้นมาเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-7 ปี 
ถ้าเราแบ่งช่องปากของเด็กเป็น 4 ส่วน คือ ขวาบน ขวาล่าง ซ้ายบนและซ้ายล่างดังภาพด้านล่างซ้ายแล้ว ในแต่ละส่วนจะมีฟัน 5 ซี่ หากดูจากด้านหน้าไปด้านหลังประกอบด้วยฟันตัด 2 ซี่ ฟันเขี้ยว และฟันกราม 2 ซี่ตามลำดับ เด็กจะมีฟันน้ำนมที่เป็นฟันกรามเพียง 2 ซี่เท่านั้น
  
     เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 6-7 ปี ผู้ปกครองจะเริ่มสังเกตเห็นว่าท้ายฟันกรามน้ำนมทั้งสองซี่เริ่มมีฟันแท้ขึ้นมา จากการแนะนำวิธีการดูแลเหงือกและฟันให้แก่ผู้ปกครอง พบว่าผู้ปกครองหลายท่านยังไม่ทราบว่าฟันกรามซี่ในสุดของลูกนั้นเป็นฟันแท้ บางรายฟันกรามแท้ที่ว่านี้ยังไม่ผุเพียงแต่มีคราบเศษอาหารติดอยู่มาก เนื่องจากเป็นฟันที่อยู่ลึกทำความสะอาดยาก ในขณะที่บางรายกว่าผู้ปกครองจะทราบว่าฟันกรามซี่ในสุดคือฟันแท้ก็ต่อเมื่อลูกปวดฟันและมาพบทันตแพทย์ สุดท้ายบางรายฟันผุมากถึงขั้นต้องรักษารากฟันและทำครอบฟัน หรือในรายที่หนักที่สุดคืออาจต้องถอนฟันแท้ซี่นั้นออกไป ซึ่งย่อมกระทบถึงการบดเคี้ยวอาหารของเด็กและคุณภาพชีวิตตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น